กฎระเบียบและข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้ม

เผยแพร่เมื่อ 29/08/2564...,
เขียนโดย คุณอมรรัตน์ ตาละคำ 
               เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ
               บริษัท แมคทริคจำกัด (มหาชน)...,

 

เรื่อง กฎระเบียบและข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้ม

          วัตถุประสงค์
                    เพื่อให้พนักงาน/ผู้รับเหมา เข้าใจและทราบถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่มีใช้ในโครงการ มีการปฎิบัติอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยไม่เกิดอุบัติการณ์ หรืออุบัติเหตุ การสูญเสียทรัพย์สิน อวัยวะ หรือเสียชีวิตใดๆในโครงการ ซึ่งเป็นเป้าหมายด้านความปลอดภัยสูงสุดของบริษัทฯ

          นิยามศัพท์ในเขตงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้ม
                    1. 
ชาร์ป หมายถึง งานในพื้นที่ปล่องระบายอากาศ บางพื้นที่สามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าได้
                    2. 
อุโมงค์ หมายถึง งานในพื้นที่สถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร / สถานที่สำหรับรถไฟฟ้าเคลื่อนที่ (รางรถไฟฟ้า) อุโมงค์ลอด

          (1)   ข้อบังคับและกฎระเบียบความปลอดภัยทั่วไป
                    
1.1  พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องปฏิบัติข้อกำหนด และป้ายบังคับอย่างเคร่งครัด
                    
1.2  พนักงาน/ผู้รับเหมาที่เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเบื้องต้นตามข้อกำหนดแล้วเท่านั้น
                    
1.3  พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องสวมเครื่องแบบยูนิฟอร์มบริษัท และสวมเสื้อสะท้อนแสงตลอดเวลาที่อยู่ในโครงการ
                    
1.4  พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องสวมหมวกนิรภัยและรองเท้าหุ้มส้นตลอดเวลาที่อยู่ในโครงการ
                    
1.5  พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ตามลักษณะงานตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ยกเว้นเวลาพัก
                    
1.6  ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ทำงาน ยกเว้น พื้นที่ที่กำหนดให้เท่านั้น
                    
1.7  พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องแต่งกายเรียบร้อย รัดกุม ไม่ขาดรุ่งริ่ง หรือมีส่วนยื่นส่วนย้อย และห้ามถอดเสื้อขณะทำงาน
                    
1.8  ห้ามพนักงาน/ผู้รับเหมาปฏิบัติงานในที่ลับตาเพียงลำพัง หรือไม่มีผู้ใดทราบ โดยเฉพาะการทำงานหลังเวลางานปกติ (งานล่วงเวลา)
                    
1.9  ห้ามไม่ให้มีการโยนสิ่งของ วัสดุ หรืออุปกรณ์ใดๆ ลงจากที่สูงโดยเด็ดขาด
                    
1.10  ห้ามดื่ม หรือนำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้ามาภายในโครงการ
                    
1.11  ไม่อนุญาตให้พนักงาน/ผู้รับเหมานำอาหาร เข้าไปทานในพื้นที่ทำงาน ยกเว้นพื้นที่ที่ทางโครงการจัดเตรียมไว้ให้

          (2)   ข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
                    
2.1   พนักงาน/ผู้รับเหมาทุกคนจะต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และใช้ความระมัดระวังในการทำงานที่มีความเสี่ยงอันตราย
                    
2.2   หากไม่แน่ใจว่างานที่จะทำมีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ต้องหยุดการทำงานดังกล่าวทันที และปรับปรุงซ่อมแซม เครื่องมือ อุปกรณ์การทำงาน หรือเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ให้แน่ใจแล้วว่ามีความปลอดภัยเพียงพอแล้ว จึงจะเริ่มทำงานต่อได้
                    
2.3   ต้องมีความเข้าใจในการทำงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายใหม่ หากไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงานจะต้องหยุดทำงานและสอบถามหัวหน้างาน หรือผู้ควบคุมงานให้เข้าใจถึงวิธีการทำงานนั้น
                    
2.4   พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องคุ้นเคยกับสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ด้นความปลอดภัย และอุปกรณ์ดับเพลิงในบริเวณที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่เสมอ
                    
2.5   พนักงาน/ผู้รับเหมาต้องทราบตำแหน่งของทางออกฉุกเฉินในบริเวณทำงาน
                    
2.6   ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลตามลักษณะงานอย่างเคร่งครัด
                    
2.7   การทำงานบนที่สูงต้องใช้ Safety Harness (Double lanyard) เท่านั้น และมีราวกันตกที่มั่นคง
                    
2.8   งานเกี่ยวกับเครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องเชื่อมแก๊ส รถยก หรือเครื่องจักรใดๆ ผู้ใช้งานต้องผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น
                    
2.9   พนักงาน/ผู้รับเหมาที่มีการทำงานในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ การทำงานบนที่สูง การทำงานบนนั่งร้าน การทำงานในสถานที่อับอากาศ หรือการลักษณะงานอื่นๆที่มีความเสี่ยงให้เกิดอันตรายต้องผ่านการฝึกอบรม
                    
2.10 การติดตั้ง ซ่อมแซม หรือการตรวจสอบเครื่องจักร หรือเครื่องป้องกันอันตรายของเครื่องจักร ต้องติดป้ายแสดงการดำเนินการให้เข้าใจง่ายและเห็นชัดเจน
                    
2.11 เมื่อต้องปฏิบัติที่เกี่ยวกับงานที่ก่อให้เกิดความร้อน และประกายไฟต้องแสดงเอกสาราอนุญาตทำงาน และเตรียมถังดับเพลิงประจำที่หน้างาน รวมถึงจัดเตรียมถาดรองสะเก็ดไฟ ,ผ้าใบกันไฟ, หรือวัสดุป้องกันสะเก็ดไฟ เมื่อมีงานเชื่อมบนที่สูง หรือเหนือศีรษะ
                    
2.12 การใช้งานบันไดทรงเอ พนักงาน/ผู้รับเหมาไม่ควรปฏิบัติงานบนบันไดทรงเอ 2 ขั้นสุดท้าย หรือขั้นที่ทาสีแดงไว้ และควรมีเพื่อนร่วมงานช่วยจับยึดบันไดขณะปฏิบัติงานเพื่อความมั่นคง
                    
2.12 เมื่อมีการใช้งานนั่งร้าน ทุกครั้งที่มีการตั้งนั่งร้านใหม่ให้พนักงาน/ผู้รับเหมาแจ้งต่อวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าร่วมตรวจสอบการติดตั้งทุกครั้ง และแจ้งเจ้าหน้าที่ Safety เข้าตรวจสอบความปลอดภัยและแขวนป้ายสีเขียวสำหรับการใช้งานนั่งร้าน หากนั่งร้านมีป้ายแขวนสีเหลืองหรือสีแดง ห้ามพนักงาน/ผู้รับเหมาใช้งานนั่งร้านเด็ดขาด จนกว่าจะมีการแก้ไขจนมีความปลอดภัยและเปลี่ยนป้ายเป็นสีเขียวแล้วถึงจะใช้งานนั่งร้านชุดนั้นได้
                    
2.13 การยกเคลื่นย้ายสิ่งของให้กระทำด้วยความระมัดระวัง หากเป็นการยกโดยใช้เครน ต้องมีผู้ให้สัญญาณ และผู้ยึดเกาะเกี่ยววัสดุที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเป็นผู้ปฏิบัตินี้เท่านั้น

          (3)   ระเบียบการเข้าพื้นที่ทำงาน (งานที่อับอากาศ)
                    
3.1   พนักงาน/ผู้รับเหมาทุกคนที่เข้าทำงานในโครงการ จำเป็นต้องผ่านการอบรมหลักสูตร ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่อับอากาศ (สำหรับผู้ปฏิบัติงาน)
                    
3.2   พนักงาน/ผู้รับเหมาทุกคนต้องมีการวัดความดัน ก่อนลงปฏิบัติงานในชาร์ปทุกครั้ง
                    
3.3   พนักงาน/ผู้รับเหมาทุกคนต้องติดบัตรพนักงานและบัตรผ่านการอบรมที่อับอากาศไว้ที่ตัว เพื่อการตรวจสอบได้ตลอดเวลา
                    
3.4   พนักงาน/ผู้รับเหมาที่ลงทำงานแต่ละชาร์ป/อุโมงค์ต้องแลกบัตรหรือลงชื่อ ณ จุดอำนวยการของแต่ละชาร์ป/อุโมงค์ และเมื่อลงปฏิบัติที่จุดใด เมื่อเลิกงานแล้วให้ขึ้นที่จุดเดิม พร้อมทั้งแลกบัตร หรือลงชื่อออกทุกครั้ง
                    
3.5   พนักงาน/ผู้รับเหมาทุกคนต้องทราบถึงทางขึ้น-ลง ของแต่ละชาร์ป/อุโมงค์ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องควบคุมสติและเดินเร็วมายังทางขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ห้ามวิ่งโดยเด็ดขาด
                    
3.6   เมื่อพนักงาน/ผู้รับเหมาเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดปัญหาสุขภาพให้รีบขึ้นมายังด้านบนทันที และติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ Safety หรือรีบแจ้งทีม Safety Worker บริเวณจุดอำนวยการเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยด่วน
                    
3.7   ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่อนุญาตให้ลงปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ Safety ด้วย
                    
3.8   ห้ามไม่ให้เปิดเพลง หรือใส่หูฟังขณะปฏิบัติงานในชาร์ปหรืออุโมงค์ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอาจเกิดอันตรายได้

          (4)   การฝ่าฝืนกฎระเบียบความปลอดภัย และบทลงโทษเทียบปรับ
                  
ในกรณีที่พนักงาน/ผู้รับเหมา ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านความปลอดภัยในการทำงานนั้น ทางหน่วยงานความปลอดภัยประจำโครงการได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนโดยมีลำดับ และวิธีการ ดังนี้
                              
ลำดับที่ 1 การกล่าวตักเตือนด้วยวาจา (ให้หยุดการกระทำดังกล่าวและให้แก้ไขทันที)
                              
ลำดับที่ 2 การออกใบเตือนด้วยเอกสารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
                              
ลำดับที่ 3 การออกเอกสารบทลงโทษเปรียบเทียบปรับ
                              
ลำดับที่ 4 การให้พ้นสภาพในการเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในโครงการ
          หมายเหตุ : บทลงโทษจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้จัดการโครงการก่อนทุกครั้ง
          กล่าวปิดท้าย : ป้องกันก่อนเกิดเหตุ สังเกตก่อนเกิดภัย ตรวจสอบก่อนการใช้ มั่นใจลงมือทำ อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ OK OK OK

 

Visitors: 370,978