ก้าวข้าม (ข้อจำกัด) ... เพื่อชื่นชมทีมงานที่ทำงานด้วยความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ: 04/12/2563....,
เขียนโดย โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา, Mentoring & Coaching for JorPor Series,
วิทยากร/ที่ปรึกษา/โค้ช/นักเขียน

เรื่อง ก้าวข้าม (ข้อจำกัด)...เพื่อชื่นชมทีมงานที่ทำงานด้วยความปลอดภัย

 

           ในบรรยากาศห้องอบรม ณ สถานประกอบการแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงของการทำกิจกรรม เพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อเน้นย้ำสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ หากต้องทำการสังเกตการความปลอดภัย ตามแผนภาพ

          เมื่อผู้ที่ทำการสังเกตความปลอดภัย พบพฤติกรรมเสี่ยง ต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่ปฏิบัติงานเพื่อหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่ปลอดภัย นอกจากนั้น เมื่อพบพฤติกรรมที่ปลอดภัย ก็ต้องมีการชื่นชม ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีการทำพฤติกรรมที่ปลอดภัยนั้นๆ ต่อไป

          ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่งยกมือขึ้น พร้อมด้วยคำถาม “ถ้าไม่เคยพูดคำชมเลย จะทำยังไง ตัวผมเองก็ไม่เคยถูกชมมาก่อนเลย”

          ในจังหวะนี้...เราสามารถเลือกสวมหมวกเพื่อเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ถามในแบบต่างๆได้  เมื่อเราเลือกใช้คำถาม (Ask) เพื่อสร้างความกระจ่างเพื่อเพิ่มสัดส่วนของสิ่งที่รู้ให้มากเพียงพอต่อการตัดสินใจและจำกัดขอบเขตในการช่วยเหลือ/สนับสนุนให้อยู่ในพื้นที่ของทางออกในอนาคต (Solution)

          ดังนั้น จึงมีการพูดออกไปว่า...ขออนุญาตชวนคุยเรื่องนี้ผ่านการถามและการพูดคุยด้วยกระบวนการโค้ชในช่วงท้ายเมื่อเสร็จการอบรมนะคะ น่าจะใช้เวลาไม่นานนัก อยากพูดคุยไหมคะ

          เมื่อได้รับการอนุญาตจากผู้ถามคำถามและถึงช่วงเวลาการพูดคุย บทสนทนาจึงเกิดขึ้น

          ช่วงต่อจากนี้ เราทั้งคู่จะมีเวลาในการพูดคุยกันประมาณ 50 นาที โค้ชออนซ์จะขออนุญาตทำหน้าที่เป็นโค้ช ส่วนคุณเอ เป็นผู้มารับการโค้ชนะคะ จากคำถามที่ทางคุณเอ สอบถามมาเราจะพูดคุยกันในหัวข้อนี้ไหมค่ะ หรือคุณเออยากจะพูดคุยเรื่องอะไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จากการการโค้ชต่อจากนี้ค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ครับโค้ช ผมอยากชื่นชมทีมงานเมื่อผมไปสังเกตความปลอดภัยพวกเขาครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : คุณเออยากชื่นชมทีมงานเมื่อเวลาไปสังเกตความปลอดภัยใช่ไหมค่ะ (คุณเอตอบกลับโดยการพยักหน้า) อยากให้คุณเอช่วยเล่าเกี่ยวกับการสังเกตความปลอดภัยที่คุณเอเคยทำอยู่ในครั้งที่ผ่านๆมาให้ฟังหน่อยนะคะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ส่วนใหญ่เวลาผมเดินไปสังเกตความปลอดภัย ทีมงานก็จะหันหลัง ไม่สนใจผม แล้วก็ทำงานกันไปคับ แต่หากมีทีมงานคนไหนที่ผมเห็นว่าใส่อุปกรณ์ PPE ไม่ครบตามที่กำหนด ผมก็จะตรงเข้าไปพูดกับเขาทันที โดยพูดว่า...ใส่อุปกรณ์ PPE ให้ครบเดี๋ยวนี้ ซึ่งมีพนักงานหนึ่งคนที่ผมเข้าไปพูดด้วยแบบนั้นเมื่อวันก่อนครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : แล้วทีมงานคนนั้นเขาทำอย่างไรบ้างค่ะ หลังจากที่คุณเอพูดแบบนั้นไป

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : น้องคนนั้นก็พูดตอบกลับแค่เพียงว่า“ครับ” แล้วก็หยิบอุปกรณ์ PPE มาใส่ จากนั้นก็หันไปทำงานต่อครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : (เข้ากระบวนการ)จากเหตุการณ์ที่คุณเอเล่ามาเมื่อสักครู่นี้ หากคุณเอได้มีโอกาสถอยออกมาแล้วเห็นเหตุการณ์ตามที่ได้เล่ามาเมื่อสักครู่อีกครั้ง ตอนนี้สายตาคุณเอที่มองเห็นคนทั้งคู่กำลังพูดคุยกัน คุณเอคนนั้นเขาทำอะไร ได้ยินเขาพูดอะไร เขารู้สึกอะไร เขาทำอย่างนั้นมีเจตนาอะไร เขาต้องการอะไรช่วยพูดรายละเอียดต่างๆ ออกมาให้ฟังหน่อยนะคะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ผมเห็นนายเอกำลังเดินเข้าไปที่ส่วนงานคลังสินค้าเพื่อไปยังจุดที่มีพนักงานยืนทำงานกันอยู่ 4-5 คน นายเอเดินเข้าไปหาพนักงานคนหนึ่งที่ไม่ใช้อุปกรณ์ PPE ในการปฏิบัติงาน จากนั้นนายเอก็หยุดยืนใกล้ๆ กับพนักงานคนนั้นพร้อมกับพูดว่า...ใส่อุปกรณ์ PPE ให้ครบเดี๋ยวนี้ นายเอรู้สึกไม่พอใจที่พนักงานคนนี้ทำงานทั้งๆ ที่ตนเองไม่ปลอดภัย นายเอพูดและทำแบบนี้เพราะเจตนาดี เขาอยากให้ทุกคนทำงานด้วยความปลอดภัยครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ขอบคุณคุณเอมากค่ะ สำหรับการพูดถึงสิ่งที่คุณเอได้รับรู้ ได้เห็น ได้ยินและรู้สึกจากเหตุการณ์ผ่านคนตำแหน่งที่ 1ตอนนี้ขอให้คุณเอ สนใจที่คู่สนทนาในเหตุการณ์นี้บ้างนะคะ(น้องพนักงาน) ต่อจากนี้ขอให้คุณเอเข้าไปอยู่ในความรู้สึก การรับรู้ การได้ยินของน้องเขาในเหตุการณ์ ในการสนทนาของคนทั้งคู่นะคะ น้องพนักงานคนนั้นเขาทำอะไร ได้ยินเขาพูดอะไร เขารู้สึกอะไร เขาทำอย่างนั้นมีเจตนาอะไร เขาต้องการอะไรช่วยพูดรายละเอียดต่างๆออกมาให้ฟังหน่อยนะคะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : น้องพนักงานกำลังตั้งใจทำงานอยู่และหยุดทำงานเมื่อคุณเอเดินเข้ามาใกล้ น้องได้ยินคำพูดของคุณเอที่บอกให้ใส่อุปกรณ์ PPE เดี๋ยวนี้ ผม(น้องพนักงาน)รู้สึกไม่ชอบพี่คนนี้เลย เดินมาถึงก็มาสั่ง ไม่ถามผมสักคำว่าเพราะอะไรผมถึงไม่ใส่อุปกรณ์ PPE พวกนี้ตอนทำงาน แต่ผม  ไม่อยากมีปัญหา ช่างแ..ง จึงตอบไปว่า ครับ แล้วจึงหยิบ PPE มาใส่ แล้วก็ทำงานต่อไป

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ขอบคุณคุณเอมากค่ะ สำหรับการพูดถึงสิ่งที่น้องพนักงานได้รับรู้ ได้เห็น ได้ยินและรู้สึกจากเหตุการณ์ผ่านคนตำแหน่งที่ 2 ตอนนี้ขอให้คุณเอ กลับมาอยู่ในจุดที่เห็นคนทั้ง 2 คนพูดคุยกัน คุณเอได้เรียนรู้อะไรจากการได้รับรู้ ได้เห็น ได้ยินและรู้สึกจากเหตุการณ์ผ่านคนทั้ง 2 ตำแหน่ง(คนทั้งคู่)บ้างค่ะ ช่วยพูดรายละเอียดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้ฟังหน่อยนะคะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ครับโค้ช ผมได้เรียนรู้ว่าน้องพนักงานน่าจะไม่ชอบผม เพราะน้องคุยกับผมแบบถามคำตอบคำ ถึงแม้สุดท้ายน้องเขาจะหยิบอุปกรณ์ PPE มาใส่เรียบร้อยก็ตาม และในส่วนของตัวผมเอง ผมรู้ดีว่าผมมีเจตนาดีที่อยากให้น้องๆทีมงานทุกคนปลอดภัย แต่ท่าทีและคำพูดของผมในจังหวะที่เข้าไปคุยกับน้องเขา เป็นท่าทีที่อาจจะมีอารมณ์และสีหน้าที่ไม่พอใจกับการที่น้องเขาทำตัวเสี่ยงในการทำงานครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : เอาล่ะค่ะ ตอนนี้ หากคุณเอที่เห็นเหตุการณ์ของคนทั้งคู่มาตลอด และคุณเอสามารถมอบคำสอนอะไรก็ได้ให้กับนายเอในเหตุการณ์นี้คุณเออยากพูดอะไรกับเขาบ้างค่ะ ตอนนี้คุณเอสามารถพูดกับนายเอได้เลยค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ผมเข้าใจเจตนาที่ดีที่นายเอทำเพราะเขาอยากเห็นทุกคนปลอดภัย ผมอยากบอกนายเอให้ลองหาแนวทางเมื่อต้องไปสังเกตความปลอดภัยใหม่ โดยให้คิดดูว่าจะทำอย่างไรให้นายเอและน้องๆ มีการพูดคุยกันและมีการโต้ตอบกันมากขึ้นมากกว่าแค่ได้ยินคำตอบว่าครับเพียงเท่านั้น

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : มีอะไรที่คุณเออยากพูดกับนายเอเพิ่มเติมอีกไหมค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : น่าจะหมดแล้ว ไม่มีแล้วครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ต่อจากนี้ ถ้าคุณเอต้องไปสังเกตความปลอดภัยจะทำ จะพูดอะไร อย่างไรบ้างค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ผมคงต้องเลิกใช้วิธีการแบบเดิมของผมและหาแนวทางอื่นๆ มาใช้เมื่อต้องไปสังเกตความปลอดภัยครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ในตอนนี้พอจะช่วยลองบอกแนวทางสัก 3 แนวทางในการไปสังเกตความปลอดภัยได้ไหมค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : เอ่ออออ แนวทางแรก ผมจะปรับจากแบบเดิมเล็กน้อยครับ นั่นคือ ก่อนเข้าไปคุยกับน้องๆ ผมจะรู้ตัวและปรับอารมณ์ของผมก่อน เมื่ออารมณ์ผมสงบแล้วผมจึงเข้าไปพูดคุยครับ แนวทางที่สอง ผมอาจใช้การสังเกตอยู่ไกลๆ แล้วถ่ายภาพอะไรที่ไม่ปลอดภัยเก็บไว้จากนั้นรอจังหวะเหมาะๆ จึงเอาเรื่องเหล่านี้พูดคุยกับน้องๆทีมงานครับ แนวทางที่สามผมอาจจะเอาวิธีการสังเกตความปลอดภัยที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ ที่มีทั้งพูดคุยหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและมีการชื่นชมไปลองใช้ครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ยอดเยี่ยมมากค่ะสำหรับแนวทางที่ทางคุณเอตอบมา เมื่อสักครู่ได้ยินแนวทางที่สาม คุณเอเอ่ยถึงการชื่นชม และในช่วงต้นก่อนเริ่มการพูดคุยกัน โค้ชจำได้ว่า...คุณเอบอกว่าไม่เคยพูดชื่นชมใครใช่ไหมค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ใช่ครับไม่เคยพูดชื่นชมใคร และไม่เคยมีใครมาพูดชื่นชมผมด้วย

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ลองนึกย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมานะคะ มีครั้งไหนไหมค่ะ เหตุการณ์ไหนก็ได้ จะเล็กน้อยหรือใหญ่ก็ได้ ที่คนรอบข้างที่รู้จักกับคุณเอในเหตุการณ์นั้นมีการพูดชื่นชมหรือการชื่นชมในรูปแบบอื่นๆ ที่คุณเอรับรู้ได้ว่าเป็นการแสดงออกในแง่ดีต่อการกระทำของคุณเอ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ก็พอมีนะครับ ตอนที่ผมวาดรูปประกวดและได้ผ่านเข้ารอบ ตอนนั้นผมหันไปที่พ่อของผม พ่อผมเขายิ้มให้ผม แล้วก็ยกนิ้วโป้งเหมือนจะบอกว่าเยี่ยมๆ มาทางผมครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : คุณเอรับรู้และรู้สึกอย่างไรกับคุณพ่อบ้างค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ผมรับรู้ได้ว่าพ่อภูมิใจในตัวผมแม้ว่าพ่อจะไม่ได้พูดอะไรออกมา เหตุการณ์นี้ผมรู้สึกดีมากๆ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ขอบคุณที่ไว้ใจและวางใจในการพูดคุยครั้งนี้นะคะ รับรู้ได้ว่าคุณเอซื่อสัตย์กับตนเอง ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ทุกๆบทสนทนาที่พูดคุยกันมาตลอด เป็นความจริงใจที่ตรงไปตรงมามากค่ะ :การแสดงออกของคุณพ่อคุณเอแบบนี้แม้ไม่ได้ใช้คำพูดแต่คุณเอก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกข้างในจริงๆของท่านใช่ไหมค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ครับ ผมรับรู้ได้ และผมก็เข้าใจแล้วว่าการแสดงออกถึงการชื่นชมหรือการแสดงออกในแง่ดีต่อการกระทำของคนอื่นสามารถทำได้ผ่านสีหน้า ท่าทางและภาษากายด้วยแม้จะไม่มีคำพูดชื่นชม ผมก็รับรู้ครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : (โค้ชยิ้ม) ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรื่องพฤติกรรมและการทำงานของสมองสั้นๆนิดนึงได้หรือไม่ค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ได้เลยครับ ยินดีครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : เมื่อต้องทำการหยุดพฤติกรรม (พฤติกรรม คือ สิ่งที่แสดงออกและมองเห็นได้) ต้องดำเนินการทันที เพราะการให้ Feedback สมองอย่างรวดเร็ว สมองพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่ผู้เข้าไปหยุดพฤติกรรมต้องการให้ปรับเปลี่ยน หากปล่อยให้เวลาผ่านล่วงเลยไปการเปลี่ยนพฤติกรรมจะทำได้ยากขึ้น คล้ายกับว่าสมองมีความจำแสนสั้น เมื่อมีการกระทำใดๆในเชิงลงโทษ/เชิงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดขึ้นห่างจากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนหน้าสมองจะไม่ปะติดปะต่อว่าสองเรื่องราวนั้นๆเกี่ยวข้องกันนอกจากนี้ พฤติกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยการกระทำที่สม่ำเสมอด้วยนะคะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ขอบคุณมากครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : ในครั้งต่อไปถัดจากนี้ เมื่อคุณเอต้องไปสังเกตความปลอดภัย 1 แนวทางที่คุณเอจะใช้คือแบบไหนค่ะและถ้าต้องชื่นชมทีมงานคุณเอ คุณเอจะทำ/แสดงออกอย่างไร

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : ผมจะใช้วิธีการแบบที่เรียนวันนี้ครับ ผมจะเขาไปหยุดพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยทันที โดยท่าทีของผมจะไปแบบเป็นมิตรเพื่อให้น้องๆทีมงานพูดคุยกับผมมากกว่าแค่ถามคำตอบคำนอกจากนี้ สำหรับน้องๆ ที่ทำพฤติกรรมที่ปลอดภัยผมจะแสดงออกผ่านสีหน้า ท่าทาง ที่มีรอยยิ้มบนใบหน้า และยกนิ้วโป้งชื่นชมพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกและรับรู้ได้ว่าผมรู้สึกดีกับการกระทำของพวกเขาครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : (โค้ชยิ้มพร้อมทั้งยกนิ้วโป้งขึ้นมา)เยี่ยมมากค่ะ คุณเอจะเริ่มทำแนวทางแบบเมื่อสักครู่ที่บอกเมื่อไหร่ดีค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) : เริ่มพรุ่งนี้เลยครับ

          Coach  (ผู้ทำการโค้ช) : โอเคค่ะ มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ ขอบคุณมากสำหรับการพูดคุยในวันนี้ค่ะ

          Coachee (ผู้ได้รับการโค้ช) :ขอบคุณโค้ชเช่นกันครับ

 

-----จบการพูดคุยด้วยกระบวนการโค้ช-----

 

ทักษะการโค้ช คือ ทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้

.

 

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจ..โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

 

 

 

 

Visitors: 369,265