การตรวจเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัย

เผยแพร่เมื่อ: 12/11/2563....,
เขียนโดย อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา 
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง การตรวจเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัย

 

          การตรวจเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัย หลายคนคงสงสัยว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัยมีความสำคัญอย่างไร ? และ ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน ?

          การตรวจเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัย มีความสำคัญในงานอาชีวอนามัยในแง่ที่ว่า หลายโรคจากการทำงาน มีระยะฟักตัวการดำเนินโรคนานเป็น 5-10 ปีขึ้นไปจนกว่าจะเกิดความผิดปกติให้เห็น สารสัมผัสจากการทำงานบางประเภท หากไม่มีระบบป้องกันขณะทำงานที่ดี สามารถทำให้เกิดโรคปอดจากการประกอบอาชีพในระยะยาว นับ 10 ปีค่อยปรากฎอาการได้ เช่น โรคปอดจากแร่ใยหินแอสเบสตอสในงานรื้อกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรค ผ้าคลัชบางประเภท โรคปอดจากฝุ่นทรายซิลิโคสิสในงานโรงโม่หิน งานทำแก้วอิฐทนไป โรคปอดบิสสิโนสิสในงานสัมผัสฝุ่นฝ้าย ปอ ลินิน เช่น ทอผ้า ปั่นด้ายในโรงงานนอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ประกอบกิจการที่แออัดหนาแน่น เช่น บ้านพักคนงาน เรือนจำ หรือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะตามหอผู้ป่วย งานในสถานประกอบกิจการสัมผัสฝุ่นทราย โรงบด ย่อยหิน หลอมเป่าแก้ว เป็นกลุ่มงานที่มีโอกาสเกิดวัณโรคปอดจากการทำงานสูงกว่าคนทั่วไป

          ดังนั้น จะเห็นว่างานเอกซเรย์ปอดทางอาชีวอนามัยมีประโยชน์มาก นอกจากจัดเป็นข้อบังคับตามกฏหมายแล้วนั้น เอกซเรย์ปอดยังถูกใช้ประกอบการวินิจฉัยเฝ้าระวังโรคเบื้องต้น ตั้งแต่ระยะก่อนเข้าทำงาน โดยเอกซเรย์ปอดช่วยให้ แพทย์ และ จ.ป.วิชาชีพ ทราบผลปอดพื้นฐาน (baseline) ของคนทำงานที่ดูแลอยู่ว่าเคยมีโรคใดซ่อนอยู่เดิมก่อนรับเข้าทำงานหรือไม่ อันจะมีประโยชน์หากเกิดคดีฟ้องร้องกันภายหลังและใช้วินิจฉัยโรคจากการทำงานที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง นอกจากนี้ การตรวจติดตามเอกซเรย์ปอดเป็นระยะทุก 1-3 ปี มีประโยชน์มากในการเฝ้าระวังโรคบางโรคที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว เช่น วัณโรคปอด ซิลิโคสิส ปอดอักเสบจากสารสัมผัสที่ทำงาน ทำให้สามารถสร้างระบบหรืออุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และกันผู้ป่วยออกมารักษาได้ทันท่วงที ตลอดจนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบกิจการ

          อย่างไรก็ตาม การตรวจติดตามเอกซเรย์ปอดคนทำงานสำหรับสถานประกอบกิจการบางประเภทที่ความเสี่ยงทางสุขภาพน้อย หากตรวจเอกซเรย์ปอดทุก 1 ปี อาจถี่เกินไป กฏหมายบางประเทศจึงมีการปรับให้ห่างขึ้นตามความเหมาะสม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ตรวจเอกซเรย์ปอด ทุก 3 ปี ในสถานประกอบการเกี่ยวกับฝุ่น หิน ทรายเพื่อเฝ้าระวังโรคปอดซิลิโคสิส 

 

 

Visitors: 371,449