ภัยเงียบ…กว่าจะรู้ตัว ก็ (อาจ) สายเสียแล้ว

เผยแพร่เมื่อ: 05/11/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม
หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย สายโรงงานอุตสาหกรรม

เรื่อง ภัยเงียบ…กว่าจะรู้ตัว ก็ (อาจ) สายเสียแล้ว 

          ทุกวันนี้…เรามาทำงานเพื่ออะไรกันคะ?  ผู้เขียนมักจะถามคำถามนี้ในการอบรมพนักงานอยู่บ่อยครั้ง  และทุกครั้ง จะได้รับคำตอบ คือ เพื่อเงิน!!! ดังกึกก้องขึ้นมาทันทีพร้อมกับเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน

          ผู้เขียนถามต่ออีกว่า แล้วเงินที่ได้มานั้น…คุณใช้มันคุ้มค่ากับที่คุณแลกความรู้ ทักษะ และชีวิตมาไหม? เสียงในห้องที่หัวเราอย่างสนุกสนานเริ่มเงียบลงทำหน้าเคร่งเครียดพร้อมตั้งใจฟังทันที

          ในสถานประกอบกิจการมีการแบ่งการทำงานหลายระดับ เช่น ระดับบริหาร ระดับหัวหน้างาน และระดับพนักงานปฏิบัติการ  ซึ่งแต่ละหน้าที่การทำงานก็จะมีสิ่งคุกคามในการทำงานที่อาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันออกไป  แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรจะเหมือนกัน นั่นคือ “สุขภาพที่พร้อมต่อการทำงานนั้นๆ”  แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าคนทำงานทุกระดับมักจะหลงลืมการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อให้พร้อมต่อการทำงานที่แท้จริง  แล้วผู้อ่านหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการของท่านเคยมีพฤติกรรมแบบนี้บ้างหรือไม่???

เคสที่ 1 : สโลแกน “วันศุกร์เมา วันเสาร์ถอน วันอาทิตย์นอน วันจันทร์(อาจ)ลา”

 

          ช่างพ่นสี ณ โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ชื่อ นายเอ  มีอายุการทำงาน 10 ปี ผลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ตรวจพบมีค่าตับที่สูงผิดปกติ จป.วิชาชีพ จึงได้นำไปตรวจวินิจฉัยซ้ำที่โรงพยาบาลว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่  เมื่อแพทย์ทำการซักประวัติส่วนตัวพบว่านายเอดื่มยาดองทุกวัน วันละ 1 เป๊ก และดื่มเหล้าขาว 1 ขวด แทบจะทุกสุดสัปดาห์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นการบำรุงร่างกาย แก้กษัยเส้นต่างๆ 

          สำหรับพื้นที่การทำงาน โรงงานนี้มีระบบระบายอากาศและม่านน้ำ รวมถึงการบังคับสวมหน้ากากที่มีตลับกรองขณะพ่นสี ผลการตรวจวัดขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศก็ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นโรคจากการทำงาน สุดท้ายนายเอต้องรักษาตัวเองโดยใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากเป็นโรคตับแข็งจากการดื่มสุรานั่นเอง ต้องลาป่วยไปรักษาตัวบ่อยครั้ง และร่างกายไม่พร้อมต่อการทำงานบริษัทจึงจำเป็นต้องให้ออกจากการงานโดยจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

 เคสที่ 2:  ผมลงทุนมาเยอะแล้ว…จะให้เลิกง่ายๆได้อย่างไรล่ะคร๊าบ

          ประโยคนี้ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งได้กล่าวกับผู้เขียนไว้พร้อมหัวเราะด้วยเสียงอันดังลั่นห้อง  หลังจากที่เราได้ทักท้วงเรื่องพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้จริงๆ

 

          “ผมน่ะเลือกสูบยี่ห้อดีๆเลยนะ  มวนก็เล็กนิดเดียว ไม่เหมือนบุหรี่ไทย”

          “แต่พี่ก็สูบวันนึงเกือบ1 หรือ 2 ซองเลยนะคะ”

          “เอาน่า…ไม่เป็นไรหรอก อย่าคิดมาก”

          “จะไม่ให้คิดมากได้อย่างไรคะ เมื่อหนูเคารพพี่มาก ไม่อยากให้พี่จากไปก่อนวัยอันควร”

          “อ้าว….มาแช่งกันง่ายๆแบบนี้ได้อย่างไร”

          “ไม่ได้แช่งค่ะ คือว่า ตอนนี้ไขมันในเลือดของพี่สูงเป็นที่ 1 ของโรงงานไปแล้ว  นั่งทำงานอยู่ดีๆ เส้นเลือดสมอง หรือเส้นเลือดหัวใจอาจตีบ และเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานได้เลยนะคะ”

          บุหรี่ทำให้ระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เพิ่มสูงขึ้น ไปลดระดับคอเลสเตอรอล HDL ซึ่งเป็นไขมันในเลือดชนิดดีลง ทำให้เลือดเหนียวมากขึ้น ง่ายต่อการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดที่ไปอุดตันเส้นเลือด ยังไม่นับรวมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่สูบเข้าไปในปอดของตนเอง หรือพ่นควันออกมาในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทราบกันดีว่ามันคือ “ก๊าซพิษ” โดยการสูบบุหรี่ 1 ซอง เท่ากับได้สูดเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป 50 ppmกว่าจะขับก๊าซนี้ออกจากร่างกายได้ครึ่งนึงต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมงที่ร้ายกว่านั้นคือ มันสามารถไปจับกับฮีโมลโกลบินของเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปถึง 300 เท่า ทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายขาดออกซิเจนไปทีละน้อยๆ หรือเกิดความเสื่อมสภาพของร่างกายนั่นเอง

          จากการสนทนาครั้งนั้นผ่านไปหลายเดือน ผู้เขียนได้พบกับผู้บริหารท่านนี้อีกครั้ง

          “ตอนนี้ผมเลิกบุหรี่แล้วนะ เหล้าก็เลิกด้วย”

          “ดีจังค่ะ  แล้วทำไมอยู่ๆพี่ถึงเลิกได้คะ  ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พี่ยังยืนกรานจะไม่เลิกอยู่เลย”

          “อ้อ!...พอดีว่า ลูกน้องของเพื่อนพี่ที่อยู่อีกโรงงานนึงเป็นวิศวกร อยู่ดีๆเค้าก็ฟุบ เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในโรงงานเลย  ทั้งๆที่ยังหนุ่มไม่มีโรคประจำตัวด้วย แต่เค้าเหมือนพี่ คือ ทำงานใช้สมองเยอะ สูบบุหรี่จัด พี่ก็กลัวตามที่เราเคยบอกไว้ไม่มีผิดเลย  ขอบใจนะที่เตือนกัน”

          “ดีแล้วค่ะพี่ที่พี่เลิกได้” 

          ผู้เขียนตอบกลับไปด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม  แต่ภายในใจคิดว่า  นี่สินะเป็นที่มาของคำว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”

          ในฐานะที่พวกเราเป็น จป.วิชาชีพ เราคงไม่ต้องรอให้มีรายต่อไปในสถานประกอบกิจการของเราก็ได้  ดังนั้น มาช่วยกันประเมินความเสี่ยง จัดการภัยเงียบ เสริมสร้างสุขภาพก่อนซ่อมสุขภาพให้กับคนทำงานกันดีกว่านะคะ

Visitors: 370,029