ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ บ่งชี้อะไรในร่างกายได้บ้าง

ผยแพร่เมื่อ: 30/8/2563....,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 

Meet the Academic: Toxicology for jorpor series...,

 

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ...บ่งชี้อะไรในร่างกายได้บ้าง

          กรณีศึกษา
          แรงงานชายอายุ 44 ปี ที่มีประวัติปวดข้อและปวดท้องบริเวณลิ้นปี่มานาน 5 ปี เริ่มทำงานในโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ต่อมาเป็นเจ้าของโรงงานนี้เองมาพบแพทย์ ผลการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพพบว่า มีระดับตะกั่วในเลือดสูง (Blood lead level) เท่ากับ160.2 mg/dl (ปกติไม่เกิน 10 mg/dl) และค่า (Zinc protoporphyrin; (ZPP) หรือดัชนีของการรับสัมผัสตะกั่วแบบเรื้อรัง (Indicator of chronic lead exposure) สูงกว่าปกติ 149 mg/dl (ปกติ ไม่เกิน 35 mg/dl) ผลตรวจเลือดการทำหน้าที่ของตับ (Liver function tests) มีค่าปกติ ยกเว้นค่า Alanine aminotransferase (ALT) สูงกว่าปกติ75 U/l (ปกติ0–65 U/l) ค่าHaemoglobinต่ำกว่าปกติ 10.2 g/dl (ปกติ 13–18 g%)

 

          การเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพในสถานประกอบการ เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ที่จะต้องจัดโปรแกรมให้แก่ผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายกำหนดหากต้องเฝ้าระวังสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงทางเคมี จป.ควรวางแผนในการเฝ้าระวังสุขภาพให้เหมาะสมตามความเสี่ยงของแต่ละท่านการตรวจติดตามตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological marker) มักเรียกย่อๆว่า “Biomarker” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญที่จะต้องทำในการเฝ้าระวังสุขภาพเพื่อคาดการณ์ขนาดสารเคมีภายในร่างกายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยหรือทำนายโรคจากการรับสัมผัสสารเคมีจากการทำงานได้จากกรณีศึกษา “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ..บ่งชี้อะไรในร่างกายได้บ้าง” ดังนั้น ในวันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าสั้นๆถึงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ 3 ประเภท คือ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการรับสัมผัส  ผลกระทบ และความไว ดังนี้

          1) ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการรับสัมผัส (Biomarker of exposure) เป็นตัวบ่งชี้ที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสัมผัสสารเคมีเข้าไปภายในร่างกายแล้ว แต่ยังไม่เกิดผลกเระทบต่อร่างกายเช่น การตรวจหาสารเคมีโดยตรงในเลือด หรือสารเมแทบอไลต์ (Metabolite) ในปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งอื่นๆเพื่อประเมินว่ามีการรับสัมผัสสารเคมีในร่างกายเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ โดยการเทียบกับค่ามาตรฐานที่ใช้ในการเฝ้าระวังทางชีวภาพ คือ Biological Exposure Indices  (BEI ) ซึ่งใช้กับผู้ประกอบอาชีพที่ปฏิบัติงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระยะ 5 วันต่อสัปดาห์โดยเวลาในการเก็บตัวอย่างให้เป็นไปตามตามแนวทางในการประเมินการรับสัมผัสทางชีวภาพ เช่น ACGIH ระบุว่า ตะกั่ว จะเก็บตัวอย่างในเลือด (Blood lead) เวลาใดก็ได้ (Not critical) ส่วนสารที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (Halflife) เช่น เบนซีน จะต้องเก็บตัวอย่างในปัสสาวะในรูปเมแทบอไลต์ คือ S-phenyl mercapturic acid และ t, t muconic acid ในช่วงสิ้นสุดกะการทำงาน (End of shift) เป็นต้น ที่สำคัญคือ การประเมินตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการรับสัมผัส เป็นการประเมินตามกฎหมาย เพื่อตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ดังตัวอย่างจากกรณีศึกษาระบุระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่าปกติ (Blood lead level, BLL) จะเห็นได้ว่าใช้เป็นหลักฐานการรับสัมผัสตะกั่วในร่างกายได้ ซึ่งบ่งชี้การรับสัมผัสที่ชัดเจนกว่าการประเมินสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการวัดการดูดซึมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย 

          2) ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพผลกระทบ (Biomarker of effect) ตัวบ่งชี้นี้เป็นดัชนีที่วัดผลลัพธ์ของการตอบสนองของร่างกายต่อสารพิษ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่วัดได้ในรูปของการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีได้จากกรณีศึกษา พบว่าผลตรวจเลือดการทำหน้าที่ของตับ (Liver function tests) มีค่าปกติ ยกเว้นค่า Alanine aminotransferase (ALT) สูงกว่าปกติ ค่า Hemoglobinต่ำกว่าปกติ สามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงสรีรวิทยา พฤติกรรม หรืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย หลังจากที่ผู้ประกอบอาชีพมีรับสัมผัสสารเคมีเข้าสู่ร่างกายแล้วเป็นผลให้เกิดโรคหรือความผิดปกติในร่างกายขึ้น ดังตัวอย่างจากกรณีศึกษา สามารถบ่งชี้เปลี่ยนแปลงสรีรวิทยา ที่เป็นผลกระทบของร่างกายจากการสัมผัสตะกั่ว เช่น อาการปวดข้อ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายนั้น ไม่มีความจำเพาะเจาะจง และต้องขึ้นอยู่ตามคำสั่งและดุลพินิจของแพทย์ที่จะตรวจร่างกาย

          3) ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพความไว (Biomarker ofsusceptibility) เป็นตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ที่มีความไวในการเกิดพิษจากการรับสัมผัสสารเคมีแตกต่างกัน เช่น เชื้อชาติ อายุ สภาวะสุขภาพ สภาวะโภชนาการ เป็นต้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกันตามไปด้วย ในประชากรบางกลุ่มอาจจะมีการกลายพันธุ์หรือความผิดปกติของดีเอ็นเอ ทำให้ขาดหรือลดประสิทธิภาพของเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดสารพิษได้ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ อย่างไรก็ตามทางอาชีวอนามัยอาจจะศึกษาตัวบ่งชี้ทางความไวในการวิจัยมากกว่าในการเฝ้าระวังสุขภาพผุ้ประกอบอาชีพ

 

          กล่าวโดยสรุป การตรวจติดตามตัวบ่งชี้ทางชีวภาพทั้ง 3 ประเภท คือ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการรับสัมผัส  ผลกระทบ และความไว การนำมาใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับสารเคมีแต่ละชนิดที่ใช้ด้วยหวังอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงสามารถตอบคำถามว่า “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ..บ่งชี้อะไรในร่างกายได้บ้าง” พบกันใหม่ในครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

 

          เอกสารอ้างอิง

          อนามัย ธีรวิโรขน์ เทศกะทึก. (2556). อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ปรับปรุงครั้งที่ 5. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ

 

 

Visitors: 370,052